ยินดีตอนรับเข้าสู่ blog เทคนิคการสร้างเครือข่ายในการจัดการเรียนรู้

หน้าที่1


การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ  ( Role Playing)
 
ความหมาย 
 
     การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ   คือ กระบวนการที่ผู้สอนกำหนดหัวข้อเรื่องปัญหาหรือสถานการณ์ขึ้นมาให้คล้ายกับสภาพจริง แล้วให้ผู้เรียนสวมบทบาท หรือแสดงบทบาทนั้นตามความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของผู้เรียนที่คิดว่าควรจะเป็น ภายหลังของการแสดงบทบาทสมมุติจะต้องมีการอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงออกทั้งด้านความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้แสดงเพื่อการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์




วัตถุประสงค์
 
     1.เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรับรู้และเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมทั้งของตนเองและผู้อื่น
     2.เพื่อฝึกให้ผู้เรียนใช้ความรู้และทักษะในการแก้ปัญหาและตัดสิใจในการเผชิญสถานการณ์ต่างๆ
     3.เพื่อให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนเจตคติ พฤติกรรมและปฏิบัติตนในสังคมได้อย่างถูกตองเหมาะสม
     4.เพื่อให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ มีโอกาสแสดงออกและได้เรียนอย่างสนุกสนาน


 
องค์ประกอบสำคัญ
 
     องค์ประกอบสำคัญในการการจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ  ได้แก่
 
     1.การกำหนดสถานการณ์สมมุติ หัวข้อเรื่องปัญหา
     2.การกำหนดบทบาทสมมุติที่ต้องการพร้อมรายละเอียด
     3.การแสดงบทบาทสมมุติ
     4.กติกาควบคุมการแสดงบทบาทสมมุติ
     5.การอภิปรายที่เกี่ยวกับความรู้ ความรู้สึกและพฤติกรรมการแสดงบทบาทสมมุติ
     6.การสรุปผลการเรียนรู้  

 
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
 
การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ   ประกอบด้วย7ขั้นตอน ดังต่อไปนี้
1.ขั้นเตรียมการ
     ผู้สอนควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน สร้างสถานการณ์และกำหนดบทบาทสมมุติซึ่งบทบาทสมมุติที่ใช้ประกอบการเรียนอยู่ในปัจจุบันนี้แยกออกเป็น 3 วิธีดังนี้
1.1         การแสดงบทบาทสมมุติแบบไม่มีบทเตรียมไว้ ซึ่งผู้แสดงไม่จำเป็นต้องฝึกซ้อมก่อนที่จะแสดง เมื่อเรียนถึงเรื่องใดก็แสดงได้ทันทีโดยแสดงไปตามความรู้สึกนึกคิดของตนเอง เช่น เป็นครู ทหาร หรือบุคคลสำคัญต่างๆในชุมชน เป็นต้น
1.2         การแสดงบทบาทสมมุติแบบเตรียมบทไว้พร้อม ผู้สอนจะต้องเตรียมบทไว้ล่วงหน้าบอกความคิดรวบยอดและบทบาทให้ผู้แสดงทราบ ซึ่งผู้แสดงอาจแสดงตามบทที่กำหนดบ้างหรือคิดบทบาทขึ้นเองตามความคิด ความพอใจของตนแต่ต้องตรงกับเนื้อหาที่กำหนดให้
1.3         การแสดงบทบาทสมมุติแบบแสดงละคร ผู้สอนกำหนดบทบาทไว้แล้วผู้แสดงจะต้องฝึกซ้อมแสดงและพูดตามบทที่ผู้สอนกำหนดขึ้น

2.ขั้นเริ่มบทเรียน
ควรกระตุ้นความสนใจผู้เรียนให้คิดและอยากติดตามเรื่องราวต่างๆซึ่งอาจทำได้หลายวิธี เช่น
  • การเชื่อมโยงประสบการณ์ใกล้ตัวผู้เรียน
  • การเชื่อมโยงประสบการณ์ที่ผู้เรียนได้รับในอดีต
  • การเล่าเรื่องราวหรือสถานการณ์สมมุติที่เตรียมมาแล้วและทิ้งท้ายด้วยปัญหา
  • การชี้แจงให้เห็นประโยชน์จากการเข้าร่วมแสดงและร่วมกันคิดแก้ปัญหา
  • การใช้คำถามนำซึ่งเป็นคำถามหลักในประเด็นที่ต้องการกระตุ้นให้เกิดการคิด
3.ขั้นเลือกผู้แสดง
     การเลือกผู้แสดงขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน และควรให้โอกาสผู้เรียนอาสาสมัครแสดงบทบาทด้วยความเต็มใจ เมื่อเลือกผู้แสดงครบถ้วนโดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งแล้ว ควรให้เวลาในการเตรียมการแสดงและการฝึกซ้อมพอสมควร เช่น
  • เลือกผู้แสดงที่มีลักษณะเหมาะสมกับบทบาท เพื่อให้การแสดงเป็นไปอย่างราบรื่นตามวัตถุประสงค์
  • เลือกผู้แสดงที่มีลักษณะตรงข้ามกับบทบาทที่กำหนดให้ เพื่อให้ผู้เรียนคนนั้นได้รับประสบการณ์ใหม่ เกิดความเข้าใจในความรู้สึกและพฤติกรรมของผู้ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากตน
  • ลือกผู้แสดงจากอาสาสมัครหรือความสมัครใจที่ผู้แสดงแต่ละคนสนใจ
  • เลือกผู้แสดงแบบจำเพาะเจาะจง เพื่อให้บุคคลนั้นเกิดการเรียนรู้ได้ข้อคิดจากบทบาทที่ได้รับ
4.ขั้นกำหนดตัวผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม
     ผู้สอนควรซ้อมความเข้าใจกับผู้ชมหรือผู้สังเกตการณ์ว่า การแสดงบทบาทสมมุติที่จัดขึ้นนี้มิได้มุ่งนำเสนอเพื่อความสนุกสนาน ความบันเทิงแต่ที่จริงแล้วจุดประสงค์ที่สำคัญมุ่งให้เกิดการเรียนรู้แก่ผู้แสดงและผู้ชมหรือผู้สังเกตการณ์ ดังนั้นผู้ชมควรสังเกตและมีแบบบันทึกการสังเกต เพื่อสะดวกในการเก็บข้อมูลต่างๆได้อย่างครบถ้วน
 




5.ขั้นแสดง
     การใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบการแสดง ควรใช้เศษวัสดุโดยการใช้ซ้ำ( Reuse)การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่(Recycle) หรือซ่อมแซม(Recycle) เพื่อเป็นการประหยัดและปลุกจิตสำนึกในการใช้ทรัพย์กรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า จัดเป็นฉาก การแสดงให้ดูสมจริงสมจัง เมื่อทุกฝ่ายพร้อมแล้วให้เริ่มการแสดงตามเวลาที่กำหนด ผู้แสดงควรดูแลกำกับการแสดงอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้ใช้เวลายืดยาวมากเกินไปหรือแสดงออกนอกเรื่องหรือวกวนไปมาจนผู้ชมเกิดความรำคาญหรือความสับสนไม่สามารถจับประเด็นตามที่ต้องการได้

6.ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง
     ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนรู้ตรงตามจุดประสงค์การเรียนรู้ เทคนิคที่จำเป็นคือการสัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้แสดงและการจดบันทึก ต่อจากนั้นจึงสัมภาษณ์ผู้ชม/ผู้สังเกตการณ์ต่างๆ จากข้อมูลที่บันทึกไว้ เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นประเด็นในการอภิปรายสะท้อนความคิดเห็นและสรุปประเด็นสำคัญในการเรียนรู้
     ผู้สอนต้องระมัดระวังในการคุมประเด็นการอภิปราย โดยเน้นผู้ร่วมอภิปรายทุกคนให้ตระหนักถึงวัตถุประสงค์ของการแสดงบทบาทสมมติว่า บทบาทที่ผู้แสดงแสดงออกมานั้นเป็นเครื่องมือในการดึงความรู้สึกนึกคิด การรับรู้ เจตคติหรืออคติต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของผู้แสดงแต่ละคนออกมาเพื่อเป็นข้อมูลในการเรียนรู้ ดังนั้นการอภิปรายจึงควรมุ่งเน้นเฉพาะพฤติกรรมที่ผู้สวมบทบาทแสดงออกมา ตลอดจนสะท้อนความรู้สึกของผู้สวมบทบาทที่แสดงตามบทบาทนั้นๆเช่น มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่น่าสนใจ ทำไมจึงแสดงพฤติกรรมเช่นนั้นพฤติกรรมนั้นๆจะก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง เป็นต้น ประเด็นสำคัญผู้ร่วมอภิปรายไม่ควรมุ่งประเด็นไปวิจารณ์การแสดงรายบุคคล เช่น แสดงได้ดี ไม่ดีเพียงไร เหมาะสมกับบทบาทหรือไม่ การแต่งกายถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ รูปร่างหน้าตาดี ไม่ดีเพียงไร   เพราะนอกจากจะทำให้ผู้แสดงที่ตั้งใจแสดงตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเสียความรู้สึกแล้วยังรู้สึกผิดวัตถุประสงค์ เรียกว่า อภิปรายไม่ตรงประเด็นนั่นเอง

7.ขั้นแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสรุป
     เมื่อได้วิเคราะห์และอภิปรายผลของการแสดงแล้ว ผู้สอนจะเป็นผู้เร้าและจูงใจให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดแนวคิดกว้างขวางขึ้น โดยให้ข้อคิดว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้พบเห็นมานั้น เป็นสิ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องบนพื้นฐานความเป็นจริงในวิถีชีวิตทั้งนั้นแล้วให้ผู้เรียนช่วยกันกำหนดกรอบแนวคิดของเรื่อง สรุปประเด็นให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการแสดงที่กำหนดไว้




ข้อเสนอแนะ
 
ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้แบบการแสดงบทบาทสมมุติ มีดังนี้
1.บรรยากาศการเรียนรู้
การเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่เป็นอิสรเสรี สนุกสนานมีชีวิตชีวา โดยเริ่มจาก
ความสมัครใจของผู้แสดง โดยคัดเลือกจากอาสาสมัครมากว่าการบังคับ
การแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่น ผู้ชม ผู้วิจารณ์ ผู้แสดง ผู้คุมเวลา ผู้ทำหน้าที่สรุปผล เป็นต้น
การร่วมมือกันทำงานเป็นทีม เช่น การตกแต่งฉาก เครื่องแต่งกาย การเตรียมสถานที่ การช่วยกันซ้อมบทบาท เป็นต้น
การให้อิสระทางความคิด ผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษาและผู้สนับสนุนการทำงานของผู้เรียน
2.ข้อตกลงเบื้องต้น
ผู้สอนควรสร้างข้อตกลงเบื้องต้นหรือสร้างพันธะสัญญา(Commitment) ร่วมกันก่อน เช่น
  • ชี้แจงจุดประสงค์ในการแสดงบทบาทสมมุติและสิ่งที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้
  • กำหนดกติกาในแต่ละบทบาทของผู้แสดง เป็นต้น
  • กำหนดระยะเวลาของการทำงานให้พอเหมาะ เช่น การซ้อมบทบาท การเตรียมการ การแสดงแต่ละบทบาท การสรุปประเด็น เป็นต้น
3.ประเมินผล
ผู้สอนควรประเมินผลจากการสังเกต ผลจากการสรุปข้อคิดเห็นของผู้เรียน การสอบถาม ทุกครั้ง และนำผลจากการประเมินไปใช้เพื่อปรับปรุงในการแสดงครั้ง/ตอนต่อไป
 



ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดีและข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบใช้บทบาทสมมุติมีดังนี้

ข้อดี
 
1.เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน สามารถเรียกได้ว่าเป็นเทคนิคการสอนแบบเล่นปนเรียน
2เป็นลักษณะการจัดการเรียนรู้ที่มีความหมายสำหรับผู้เรียน
3.เป็นการเรียนรู้ที่มีสภาพใกล้เคียงกับความเป็นจริงมาก ผู้เรียนสามารถสัมผัสได้
4.ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในความคิด ความรู้สึกของผู้อื่นและสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติและพฤติกรรมของผู้เรียนได้


ข้อจำกัด
 
  • ป็นวิธีสอนที่ใช้เวลามากพอสมควร ดังนั้น ผู้สอนจะต้องวางแผนการใช้เวลาไว้ล่วงหน้าและควรกำหนดเวลาแบบยืดหยุ่นได้
  • เป็นวิธีสอนที่มีขั้นตอนค่อนข้างมาก ผู้สอนจะต้องเตรียมการอย่างรัดกุม
  • ผู้สอนต้องมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อการรับรู้ (Sensitivity) สามารถสังเกตและเข้าใจพฤติกรรมทั้งของผู้แสดงและผู้ชมได้ตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง
  • ผู้สอนต้องมีความสามารถในการแก้ปัญหาหรือปรับสถานการณ์ได้ดี ในกรณีที่ผู้เรียนไม่อาจแสดงให้เป็นไปตามความคาดหวังของผู้สอน หรือเกิดการติดขัดในการแสดงอย่างกระทันหัน



ที่มา  สุวิทย์  มูลคำ อรทัย  มูลคำ 19 วิธีจัดการเรียนรู้ : เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ/สุวิทย์   มูลคำอรทัย   มูลคำ. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ภาพพิมพ์,2545.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น